แต่ละก้าวที่ย่างเดิน


ตราบยังมีแสงทองส่องฟากฟ้า
การเดินทางค้นหาไม่สิ้นสุด
อุปสรรคนานามายื้อยุด
ไม่อาจฉุดใจฉันเพราะมั่นคง



วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550

หน่วยที่ 6 การสร้างสื่อราคาเยา

ความหมาย คุณค่า และประโยชน์ของสื่อราคาเยา
สื่อราคาเยานอกจากจะหมายถึง สื่อที่มีราคาถูกแล้วยังหมายถึงสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่ต้องซื้อหาด้วยราคาแพง สิ่งที่ครูคิดประดิษฐ์ขึ้นด้วยวัสดุราคาถูก หรือหาได้ง่าย รวมถึงสื่อสิ่งของได้เปล่าจากการแจกจ่ายเผยแพร่ของหน่วยงาน

1. สิ่งที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นสิ่งธรรมชาติสามารถนำใช้ประกอบการเรียนการสอนในรูปของ ของจริง ใช้ได้โดยไม่ต้องดัดแปลงปรุงแต่ง เช่น ดิน หิน ทราย ต้นไม้ ใบไม้ แม่น้ำ ผลไม้ สนามหญ้า แม่น้ำ ป้ายจราจร ฯลฯ ซึ่งจำแนกประเภทได้เป็น

1.1 พืช ใช้เป็นสื่อการสอนได้มากมายทั้งในการสอนที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพืชโดยตรง หรือใช้ส่วนของพืช หรือสร้างความเข้าใจในการสอนเรื่องอื่น เป็นของจริงที่หาง่ายที่สุด แต่มักจะถูกมองข้าม ตัวอย่างที่พบเห็นได้ เช่น ครูต้องสอนให้นักเรียนทราบ และเข้าใจถึงรูปร่าง ลักษณะ หน้าที่ส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นไม้ อันได้แก่ ราก ลำต้น กิ่ง ใบ ดอก ผล แทนที่ครูจะให้นักเรียนได้ศึกษาจากต้นไม้จริง ๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในโรงเรียน ครูกลับใช้วิธีเขียนรูปต้นไม้บนกระดานชอล์ค เพื่อใช้อธิบายส่วนประกอบ ในขณะที่บริเวณโรงเรียน หรือแม้แต่ข้างห้องเรียนที่กำลังสอนอยู่ มีต้นไม้เป็นจำนวนมาก ที่เปิดโอกาสให้ครู นำเด็กออกไปสัมผัสกับต้นไม้จริง ซึ่งจะทำให้บรรยากาศ ของการเรียนดีกว่าการนั่งในห้อง ส่วนของพืชที่จะใช้ประกอบการสอนได้นั้นน่าจะใช้ได้ทุกส่วน นับตั้งแต่ รากแบบต่าง ๆ ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล เมล็ด เส้นใย ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนจะพิจารณาเลือกให้เหมาะสม
1.2 สัตว์ อาจเป็นส่วนของสัตว์ เช่น เปลือกหอย ปะการัง หนังสัตว์ เขาสัตว์ งา ขน เกล็ด หรือ แม้แต่สัตว์ทั้งตัวที่หาง่ายและไม่เป็นอันตราย ไก่ ปลา ปู กบ นก ก็สามาถนำมาใช้เป็นของจริงประกอบการสอนได้ทั้งสิ้น
1.3 แร่ธาตุ เช่น หิน ดิน ทราย สินแร่ ในธรรมชาติ โดยเฉพาะดิน หิน มักจะมีอยู่ทั่วไป ครูอาจนำเข้ามาในห้องเรียนหรือนำนักเรียนออกไปศึกษาก็ได้
1.4 ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น แสงแดด กระแสลม กระแสน้ำ ฝนเมฆหมอก


2. สื่อราคาเยาที่ครูคิดประดิษฐ์ขึ้นวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย วัสดุเหลือใช้ เศษวัสดุ หรือวัสดุราคาถูก เช่น ขวดเปล่า กระป๋อง เศษผ้า ถุงเท้า หลอดไฟฟ้า หลอดกาแฟ กระดาษหนังสือพิมพ์ วัสดุจากต้นไม้ สิ่งเหล่านี้ครูสามารถนำมาปรุงแต่ง ดัดแปลง ให้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณค่าได้ โดยอาศัยทักษะงานฝีมือ เพียงเล็กน้อยสื่อการเรียนการสอนที่ประดิษฐ์มาจากวัสดุราคาเยาจะมีคุณภาพหรือมีคุณค่าต่อการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวครูผู้ผลิตและผู้ใช้เป็นสำคัญว่าจะมีคุณสมบัติ มีความสามารถดีเพียงใด คุณสมบัติของครู หรือผู้ประดิษฐ์และใช้วัสดุราคาเยาด้ ดีมีดังนี้
1. เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์
2. มีทักษะในงานช่างและงานฝีมือ เพราะการประดิษฐ์เศษวัสดุ ย่อมต้องอาศัยทักษะความรู้ความชำนาญทางช่างหรือการฝีมือที่ละเอียดอ่อนอยู่บ้าง
3. มีความรักและตั้งใจที่จะทำ
4. มีความรู้ความเข้าใจหลักสูตรเนื้อหาวิชา และจิตวิทยา การเรียนรู้เป็นอย่างดี
5. รู้จักสภาพธรรมชาติของท้องถิ่น เพื่อที่จะให้สามารถแสวงหาวัสดุจากสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นมาใช้ได้มากที่สุด


3. สื่อการสอนได้เปล่าหน่วยงาน องค์การหลายแห่งทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ได้จัดทำสื่อเพื่อการเผยแพร่ ความรู้ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ รูปภาพ แผ่นปลิว จุลสาร หรือแม้วัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาสูงเช่น เทปเสียง เทปภาพภาพสไลด์ ออกเผยแพร่แจกจ่าย เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัย ไปรษณีย์ บริษัท ห้างร้าน สถานทูต สถานกงศุลแนวปฏิบัติในการผลิตและจัดหาสื่อจากท้องถิ่น
1. มีการศึกษาสำรวจสภาพท้องถิ่นล่วงหน้า เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแหล่งวัสดุต่าง ในเรื่องชนิด จำนวน วิธีการได้มา
2. เปิดโอกาสนักเรียนตลอดจนถึงผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนในการนำวัสดุอุปกรณ์จากท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
3. พิจารณาประเมินคุณค่า ของสื่อวัสดุที่นำมาใช้ เปรียบเทียบกับการใช้สื่อในลักษณะอื่น เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมในการใช้สื่อประกอบการสอนเนื้อหานั้น ๆ ในครั้งต่อไป
4. พิจารณาให้เหมาะสม ในเรื่องการนำสื่อ จากท้องถิ่นเข้ามาใช้ห้องเรียนกับการนำนักเรียนออกไปศึกษานอกห้องเรียนว่าจะคุ้มค่า เสี่ยงอันตรายหรือไม่

หลักการออกแบบและการสร้างสื่อราคาเยา
ตัวอย่างการเลือกสื่อการสอนที่พบเห็นได้เสมอ เช่นครูสอนคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการนับจำนวน การบวก การลบ และต้องการวัสดุเป็นชิ้น ๆ ก้อน ๆ จำนวนหนึ่ง เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือนับจำนวน แทนที่ครูจะนึกถึงก้อนดิน หิน หรือวัสดุอื่นอีกมาก ที่หาได้ไม่ยากในท้องถิ่น มาให้นักเรียนนับ แต่ครูกลับนึกถึงก้อนแม่เหล็กเป็นอันดับแรก และพยายามเรียกร้องให้มีการจัดซื้อกระดานแม่เหล็กมาใช้สอนนับจำนวน กรณีเช่นนี้เราได้นับจำนวนก้อนหินดูจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการนับชิ้นส่วนบนกระดานแม่เหล็กเสียอีก ถ้าก้อนหินหาได้ง่ายนักเรียนทุกคนสามารถหามาได้ง่าย เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

วัสดุกับเทคนิคการออกแบบ
วัสดุการสอน หมายถึงวัสดุทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ครูพึงหามาใช้ประกอบการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ซึ่งครูผู้สอนส่วนหนึ่งมักจะมองข้ามไป เมื่อนึกถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนสักเรื่องหนึ่ง ก็มักจะนึกถึงเฉพาะสื่อสำเร็จรูป จำพวกรูปภาพ แผนภูมิสไลด์ ที่มีผลิตขายเป็นธุรกิจการค้า ราคาค่อนข้างสูง สิ่งของที่หาได้ง่ายสำหรับการสอนบางเนื้อหา เช่น ใบไม้ ก้อนหิน ดิน ทราย บางครั้งมีคุณค่ายิ่งกว่าสื่อข้างต้นเสียอีก ถ้ารู้จักนำมาใช้อย่างเหมาะสมเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของจริง ซึ่งเรายอมรับกันว่ามีคุณค่าสูงสุด สำหรับการเรียนการสอน

การประเมินสื่อการเรียนการสอนราคาเยา

1. ความจำเป็นด้านเศรษฐกิจของชาติ ในข้อนี้นักศึกษาตลอดถึงครูผู้สอน ผู้บริหารการศึกษาทั้งหลายย่อมทราบและตระหนักกันอยู่แล้วว่าประเทศของเรา เป็นประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อการพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ต้องกู้เงินจากต่างประเทศปีละมาก ๆ ต้องจ่ายเงินกลับให้ต่างชาติรวมเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล ในด้านการศึกษาเองก็มีโครงการที่กู้เงินจากต่างประเทศมาดำเนินการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อสภาพการณ์ เป็นเช่นนี้ การพิจารณาจัดหาสื่อหรือ เทคโนโลยีการศึกษามาใช้จึงควรคำนึงถึงเรื่องการประหยัดไว้ให้มาก
2. ฐานะการเงินของโรงเรียน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการศึกษา ได้ก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ในรูปวัสดุ เครื่องมือประกอบการสอนใหม่ ๆ อย่างมากมายเป็นที่สนใจของครูผู้สอน และผู้บริหารการศึกษาทั่วไป มีความพยายามที่จะจัดซื้อจัดหาเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีงบประมาณดำเนินมาก และโรงเรียนขนาดเล็กที่งบประมาณมีอย่างจำกัดในโรงเรียนขนาดใหญ่ เช่นโรงเรียนในตัวเมืองมีนักเรียนมาก มีงบประมาณมากพอที่จะจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย เข้ามาไว้ในโรงเรียน แต่เทคโนโลยีด้านวัสดุ และเครื่องมือต่าง มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาประกอบกับความต้องการที่ดูจะไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้โรงเรียนเห็นว่า ยังขาดแคลนวัสดุ อุปกรณ์ที่ทันสมัยอยู่ตลอดไป งบประมาณที่ว่ามีมากแล้ว ก็กลับไม่เพียงพอสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์บางอย่างซื้อไม่ได้ด้วยเงินบำรุงการศึกษาหรืองบประมาณแผ่นดิน โรงเรียนบางแห่งก็มีวิธีการหาเงินจากแหล่งอื่นมาจัดซื้อ เช่น เรียกร้องให้มีการบริจาค จากผู้ปกครองของนักเรียน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนกันอยู่ทั่วไปในโรงเรียนขนาดเล็กงบประมาณมีจำกัด ก็มีความพยายามเช่นเดียวกัน ที่จะจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ทัีนสมัยให้ทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ บางแห่งขาดการวางแผนที่ชัดเจนว่า จะซื้อวัสดุอุปกรณ์นั้น ๆ มาเพื่ออะไร คุ้มค่าหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายในการใช้และการบำรุงรักษาตามมามากน้อยเพียงใด เมื่อซื้อมาแล้วใช้ไม่คุ้มค่าเก็บไว้นานก็เสื่อมสภาพ เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีเช่น โรงเรียนบางแห่งพยายามหาทุนจัดซื้อเครื่องฉายภาพยนตร์ 16 ม.ม.แต่เมื่อซื้อมาแล้วมีโอกาสใช้เพียง 2 - 3 ครั้งต่อปี เนื่องจากมีปัญหาการจัดหา หรือยืมฟิล์มมาฉาย

3. วัสดุอุปกรณ์สำเร็จรูปมีราคาสูง ตัวอย่างราคาวัสดุอุปกรณ์ในปี พ.ศ.2537 ราคาสไลด์ การศึกษาขนาด 2"x 2" เรื่องหนึ่งจำนวน 30 ภาพ ราคาขายสำหรับสไลด์ที่ผลิตขึ้นโดยหน่วยงานภายในประเทศประมาณ 400-600 บาท ถ้าผลิตมาจากต่างประเทศ ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แม้ว่าครูผู้สอนจะสามารถผลิตสไลด์เองค่าใช้จ่ายก็จะใกล้เคียงกับที่ซื้อสำเร็จรูป เนื่องจากวัตถุดิบ เช่นฟิล์มและค่าล้างฟิล์ม มีราคาสูง เครื่องฉายสไลด์มีราคาตั้งแต่ 8,000 - 30,000 บาท วิดีโอเทป รายการทางการศึกษา 1 ม้วน ราคาตั้งแต่ 250-1,200 บาท เครื่องเล่นวิดีโดเทปราคาตั้งแต่ 8,000 บาท ถึงหลายหมื่นบาท สื่ออื่น ๆ เช่น แผนที่ ลูกโลก หุ่นจำลอง ล้วนแต่ราคาสูง ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงควรหันมาพิจารณาสื่อราคาเยา ที่สามารถผลิตหรือหาได้ง่ายจากท้องถิ่นแทนที่จะเรียกร้องหาวัสดุอุปกรณ์อันทันสมัยอย่างเดียว

4. สื่อสำเร็จรูปไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตและสังคม สื่อสำเร็จรูปที่ผลิตจำหน่าย อาจใช้วิธีการสื่อความหมายบนพื้นฐานของประเพณีวัฒนธรรมและสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างไปจากสภาพชีวิตและสังคมของนักเรียนในห้อง การสื่อความหมายอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น การใช้ภาพยนตร์การศึกษาที่ผลิตจากต่างประเทศ

5 คุณสมบัติของสื่อที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้สื่อสำเร็จรูปทั้งหลายเป็นเพียงประสบการณ์จำลองเท่านั้น คุณค่าด้านการเรียนรู้จึงมีข้อจำกัด ส่วนสื่อราคาเยาที่หาได้ในท้องถิ่นนั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงอย่างกว้างขวางเพราะมีโอกาสที่จะใช้สื่อที่เป็นของจริงได้มาก

ไม่มีความคิดเห็น: